ชีวิตที่จะเปลี่ยนไป


ในภาวะ โควิด ทำงานจากที่บ้าน ทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป … แต่ก่อน ขับรถทุกวัน ใช้ชีวิตอยู่ในรถ ตอนนี้เริ่มห่างหาย ต้องหมั่นเอารถไปขับบ้าง จะได้ไม่มีปัญหาไปเสียก่อน …​ ห้องนอน กลายเป็นห้องทำงาน โชคดีที่มีโต๊ะ เก้าอี้ อยู่ ตั้งแต่หลายปีก่อนที่ไม่สบาย ด้วยโรคออฟฟิศซินโดรมเลยมีเก้าอี้ชุดนี้ … ตอนนี้ ปัจจัยสำคัญของการทำงาน คือ บริการส่งอาหาร (ผมใช้ แกร็ป) ที่เข้ามาส่งทุกวัน วันละหลายๆ รอบ … สมัยก่อน อยู่บ้านก็ไม่เคยสั่งอะไรแบบนี้ ก็ขับรถออกไปทานข้างนอก กับตัวเองแล้ว ไม่เคยคิดจะใช้บริการ อีคอมเมิร์ซสั่งอาหาร เลย ไม่คิดว่าวันนี้ จะสั่งจนชิน กลายเป็นเรื่องธรรมดาไป

พูดถึงอีคอมเมิร์ซ เริ่มมีในไทยมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 ต้นๆ นี่กว่า 20 ปี แล้ว อีคอมเมิร์ซยังไม่ถึงจุดผลิบาน ที่ยืนบนขาตัวเองได้อย่างแข็งแกร่งและทำกำไร … การซื้อของผ่านอีคอมเมิร์ซ ยังมีกำแพงหลายๆ อย่าง ร้านค้าขนาดใหญ่ ต้องจูงใจด้วยการส่งฟรี การลดราคามากๆ แต่ยอดขายกลับไปอยู่กับ พ่อค้าแม่ค้าไอจี รายย่อย แต่ก็มีปัญหาเรื่องสินค้าที่ไม่ได้ชำระภาษี ทำให้ราคาถูกกว่าสินค้าที่นำเข้ามาถูกต้องบางรายการ จริงๆ คนไทยกล้าซื้อของออนไลน์นะ ใช้บัตรเครดิตก็ไม่ใช่ปัญหา ถ้า “มีความต้องการจริงๆ” ของที่หายาก มีน้อย จะขายได้ผ่านอีคอมเมิร์ซ แต่ของทั่วไป ที่หาได้ง่าย ตามร้านค้า ถ้าขายราคาเดียวกันกับที่ร้าน ก็ไม่จูงใจคนซื้อ ที่ต้องรอสินค้า ไม่ได้ตรวจสอบเลือกสินค้าเอง กังวลเรื่องการจัดส่งหรือโดนโกง

บริการถัดจากอีคอมเมิร์ซ ที่เข้ามาสร้างสีสัน รูปแบบใหม่ คือ บริการรถรับส่ง (ยังคงเน้นความต้องการใช้รถ ต้องการเดินทาง) อย่าง Uber และตามมาด้วย Grab ที่มารับส่งคน เพื่อไปธุระต่างๆ ดั่ง แท็กซี่แบบใหม่ และพัฒนาไปเป็นบริการ “ขนสินค้า” อย่าง GrabBike LalaMove (แข่งกับการขนส่งเดิมอย่าง Thai Post ไปอีก) กลายมาเป็นเครื่องมือใหม่ๆ เทรนด์ ที่เข้ามาช่วยเสริม การขนส่งสินค้า ของอีคอมเมิร์ซ ทำให้มีตัวเลือกมากขึ้น มีความเชื่อมั่นมากขึ้น

ความสวยงามคือการต่อยอดมาถึง “บริการส่งอาหาร” อีคอมเมิร์ซอาหาร เป็นหัวข้อที่ท้าทาย เพราะสินค้านี้ มีอายุน้อย เก็บไม่ได้นาน สต็อกสินค้ายาก ถ้าทำโดยผู้ให้บริการกลาง แต่โมเดลที่เกิดขึ้น และไปได้ดี คือการที่ ตัวร้านอาหารผู้ผลิต เป็นผู้ให้บริการโดยตรงเสียเอง มีเพียงแพลทฟอร์มตัวกลางที่เข้ามา เชื่อม ร้านอาหาร เข้ากับ ลูกค้า โดยตรง ปัญหา สินค้าประเภทอาหารจึงหมดไป … เดิม ร้านอาหารรายย่อย มีรายได้หลักจากหน้าร้าน ไม่มีทางที่จะมีรายได้หลัก จากบริการส่งอาหาร มีเพียง เชนอาหารอย่าง แมค เคเอฟซี พิซซ่า ที่บุกเบิกบริการสั่งอาหารอย่างมากมาหลายปี แม้ตัวกลางจะพยายามเข้ามาพัฒนาธุรกิจนี้ แต่ถ้าร้านอาหารไม่เอาด้วย ไม่ได้สนใจ ก็ไปไม่ได้ดี

โควิด ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป … ร้าน เดิมไม่สามารถพึ่งพารายได้จากบริการส่ง เพราะคนสั่งน้อย และมีรายได้จากหน้าร้านมากกว่า พอไม่สามารถเปิดให้บริการหน้าร้านได้ และไม่มีลูกค้า เดินไปซื้อจากหน้าร้านพอ บริการสั่งอาหารกลายมาเป็นรายได้หลักของร้าน หน้ามือเป็นหลังมือจากเดิม … จึงให้ความสำคัญ ใส่ใจกับการบริการสั่งอาหาร และเข้ามาในแพลทฟอร์มกันอย่างเร็ว เพื่อความอยู่รอด … ด้าน ดีมานด์​ของลูกค้า ก็ไม่สามารถไปกินที่ร้านได้เหมือนเดิม หันมาใช้แพลทฟอร์มอย่าง Grab กันมากมาย ทันที ดีมานด์การบริโภคของคน ที่ยังอยู่ ย้ายที่จากช่องทาง ออฟไลน์ มาสู่ ช่องทางออนไลน์ทันที … O2O ในไทย เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากการมาของโควิด

ไม่เพียง Grab ที่รายได้ขึ้น ทั้งคนขับ Grab ก็มีรายได้มากกว่าพนักงานกินเงินเดือนไม่น้อยเลย … นอกจาก Grab Shoppee เองก็น่าจะได้รับผลเชิงบวกเหมือนกัน กับการช้อปปิ้ง “แบบปกติ” ที่ย้ายตัวจากในห้าง มาสู่ออนไลน์ ด้วย โควิด … โลกหลังโควิด จะเป็นอย่างไร น่าติดตาม และมาเป้นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังต่อสู้ ฟ่าฟันกันอยู่นะครับ.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *