จากสถานการณ์ที่ Facebook down ไปช่วงสั้นๆ วันนี้ อาจเป็นความรู้สึกที่ยาวนานของหลายๆ คน … ประกอบกับช่วงนี้ กระแส โดน Facebook กวาดล้างให้เปลี่ยนชื่อนามสกุลจริงกัน ก็ทำให้หลายๆ คน เล่น Facebook ไม่ได้กัน หลายวัน หลายชั่วโมง หรือบางคน หลายนาที … แต่แค่ไม่กี่นาที ก็ทำให้หลายๆ คน อึดอัด หายใจเข้าไม่สุด ออกไม่โล่ง กันเลยทีเดียว … ทำให้กลับมาคิดว่า ถ้าวันหนึ่งไม่มี Facebook ไป ชีวิตจะเป็นอย่างไร
สำหรับข้อมูล เรายังมีการทำการ Backup ข้อมูลกันได้ ด้วยความเชื่อที่ว่า ข้อมูลที่เก็บไว้สองชุด จะไม่เสียหายไปพร้อมๆ กัน (ระดับซีเรียสต้องเก็บแยกคนละพื้นที่เลย จากหลักการระวังภัยให้กับข้อมูลในสถานการณ์ crisis) …
แล้วเครื่องมือต่างๆ ใน ออนไลน์นั้น มีอะไรบ้างที่จีรัง? และเชื่อถือได้? มีการ Backup เหมือน data มั้ย?
Facebook ไม่ใช่ของถาวรนะครับ ไม่ใช่ของเรา วันหนึ่งอาจจะโดนบล็อคไม่ให้ใช้งานเลยก็เป็นได้ (กรณีสมมุติ. เกิดนโยบายไม่ให้ user ประเทศไทยใช้ Facebook วันนั้น ทุกคนก็อาจถูกบล็อค เข้าไม่ได้ร่วมกัน) … ถ้าเข้า Facebook ไม่ได้ “แฟนเพจ” ที่สร้างไว้ก็จะเข้าไม่ได้เหมือนกัน (เรื่องจะสร้าง account สำรองไว้ ก็อาจทำไม่ได้แล้วเพราะต้องใช้ชื่อนามสกุลจริง และไม่ให้ user ซ้ำกันอยู่ในระบบ) … สรุปว่า วันหนึ่ง asset บน Facebook ของเราก็อาจจะอันตรธานหายไปได้ ซึ่งจะไปเรียกร้องอะไรกับใครไม่ได้
ไม่มี Facebook ก็ ใช้ IG แทนสิ? Instagram ก็ไม่ต่างกับ Facebook คือไม่ใช่ทรัพย์สินของเรา เจ้าของบริการสามารถยกเลิกการให้บริการกับเราเมื่อไรก็ได้ หรือถ้าเราไปละเมิดกฎกติกาของเค้า (อย่างที่เป็นดราม่าช่วงที่ผ่านมาไม่นาน) … แสดงว่า followers เยอะๆ ใน IG นั้นก็ไม่ใช่ทรัพย์สินของเราที่จีรัง เหมือนเป็นของที่ยืมเค้ามา วันหนึ่ง ก็อาจจะจากเราไป (ใครมี followers เยอะๆ ก็คงต้องรีบตักตวงผลประโยชน์จากการรับงานโฆษณา ก่อนจะถึงวันที่มันจากเราไป)
ไม่มี IG งั้น youtube แทนมั้ย? สำหรับคนที่สร้างคอนเทนต์ video (โดยเฉพาะบล็อกเกอร์ video ทั้งหลาย) ที่อัพ video ลง youtube สะสม views, สะสม subscribers กัน … ก็ไม่ต่าง Youtube สามารถที่จะยกเลิกบริการ (“ฟรี”) ที่เขาให้เรา (สมมุติ. หรือเปลี่ยนใจจะเริ่มเก็บเงิน?) … views และ subscribers นั้นก็อาจไม่จีรัง สามารถหายไปได้เหมือนกัน ถ้าโดนลบ video (ไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใด เช่น ลิขสิทธิ์ หรือ ทำผิดกติกาอะไรของ youtube) โดนลบ chanel … จุดที่น่าสนใจคือ เราต้องเก็บไฟล์ video เอาไว้ แม้จะไม่มี Youtube เราก็สามารถอัพคอนเทนต์ของเราไปบน platform อื่น เช่น vimeo ได้ 🙂
สูงสุดก็จะกลับคืนมาสู่สามัญ ที่ว่าทำไม website จึงเป็นสิ่งสำคัญ และเคยรุ่งเรืองมาในสมัยก่อน เพราะ ไม่ว่า social media ไหน จะไม่ให้บริการเราอีกต่อไป แต่เว็บไซต์ “ของเรา” นั้นจะยังอยู่ และเป็น asset “ของเรา” จริงๆ เพียงอย่างเดียว ตราบใดที่เราจ่าย “ค่าเช่าที่” (คล้ายๆ เช่าบ้านอยู่) ถ้าอยากซื้อบ้าน ก็ต้องซื้อ server แต่ก็ต้องไปเช่าที่วาง server (co-location) คือต้องเช่าอะไรสักอย่างอยู่ดี ต้องจ่ายค่า bandwidth และของที่มาคู่กันคือ โดเมนเนม … จะเห็นว่า asset ที่แท้จริงของเรา ที่เราควบคุมได้ที่สุด (แต่ดูแลย้ากยาก กว่า social media พวกนั้น) คือ website & domain name
ของที่ดูใช้ง่าย สบาย ก็แฝงความไม่แน่นอนอยู่ในนั้น … แต่กว่าจะรู้สึกตัว ก็ต้องเมื่อเกิดเหตุขึ้น เช่น โดนบล็อค โดนแบน โดนลบแอคเคาท์ … เป็นสิ่งที่ คนไม่น้อย มักจะคิดว่า “มันคงไม่เกิดขึ้นกับฉันหรอก” … คำพูดนี้ไม่ต่างกับ คนที่ไม่เคย backup ข้อมูลของตัวเอง แล้วคิดว่า การที่ข้อมูลจะสูญหาย เสียหายนั้น “มันคงไม่เกิดขึ้นกับฉันหรอก” เหมือนกัน
พูดถึง channel, ที่วางคอนเทนต์, asset ในแง่ ฐานผู้ชม ฐานเสียง ฐานแฟน แล้ว … มาพูดถึงช่องทางติดต่อกันบ้าง
ช่องทางติดต่อ ที่เราจะให้คนอื่นสามารถติดต่อเราได้นั้นมีทางไหนบ้าง? พื้นฐานของคนเราในโลกออฟไลน์ สมัยก่อนเคยเป็น บ้านเลขที่ จะได้ส่งจดหมายไปถึง ปัจจุบันกลายเป็น เบอร์มือถือ ค่อนข้างมั่นคง เพราะถ้าเรายังจ่ายค่าโทรศัพท์ เบอร์ก็จะเป็นของเราไปเรื่อยๆ แต่ก็มีช่วงที่คนเรา มีหลายเบอร์ เปลี่ยนเบอร์สวย ย้ายค่ายกันให้วุ่น จนบางที สับสนว่า ตกลงเบอร์เธอคือเบอร์ไหนแน่?
ในโลกออนไลน์ ที่อยู่ติดต่อที่ไม่ค่อยเปลี่ยน ไม่มีมาก คืออีเมล เครื่องมือที่ไม่ค่อยถูกพูดถึง แต่เป้นสิ่งสำคัญจำเป็นที่ทุกคนบนโลกออนไลน์ต้องใช้ตลอด ในการสมัครบริการต่างๆ ซื้อสินค้าออนไลน์ แต่กับเพื่อน เราไม่ค่อยขออีเมลกันแล้วเท่าไร
หลังจากยุคสมัยของ MSN ได้ผ่านไปแล้ว เราก็มาใช้ Skype กัน … ในปัจจุบัน Line ID อาจเป็นที่นิยมมากที่สุดสำหรับช่องทางการติดต่อ ถ้าไม่นับ Facebook (ซึ่งก็จะใช้ไม่ได้ถ้าโดนบล็อคไป อย่างที่กล่าวข้างต้น) … บริการออนไลน์ทุกชนิด ที่เป็นบริการฟรี จริงๆ แล้วก็ไม่มีอะไรจีรัง ไม่ว่าจะ Line, Skype หรือ อีเมล
จากการลองคิด ทำให้เห็นว่า ไม่ว่าจะใช้ช่องทางอะไร ทั้ง content/fan channel หรือ communication channel ก็ควรมีสำรองไว้ด้วย อย่าพึ่งจมูกคนอื่นหายใจเพียงจมูกเดียว หาจมูกสำรองไว้ด้วย และคิดไว้เสมอว่า ของที่เราไม่ได้เป็นเจ้าของ มันจะจากเราไปเมื่อไรก็ได้ จะได้ไม่ panic/shock เมื่อเกิดปัญหาขึ้น
โดยสรุป ผมมองว่า แม้เราจะใช้ social media เป็นฐานในการ เผยแพร่ content ก็ต้อง 1) เก็บรักษาต้นฉบับคอนเทนต์เอาไว้ เพื่อย้าย platform ได้ (เช่น ย้ายจาก youtube ไป vimeo), 2) มีเว็บไซต์และโดเมนเอาไว้ เป็นฐานที่มั่นสำคัญ ไม่ว่า social media ไหนจะสูญหายไป ก็ยังมีช่องทางให้คนเข้ามาหา content ได้, 3) มีอีเมลหลักเอาไว้ติดต่อ พร้อมอีเมลสำรอง ระบุไว้ในเว็บไซต์ ประกอบกับช่องทางติดต่ออื่นๆ (เสริมกับ Line ID ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง ยกเลิกใช้งานได้ และ/หรือ เบอร์โทรศัพท์ ซึ่งอาจจะเป็นการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวที่มากเกินไป)
สูงสุดคืนสู่สามัญ … social media คืนสู่ website และ email 🙂
สวัสดี.