วิธีเลือกกันแดดที่ดี แบบเจริญๆ – Jarern’s Sunscreen Ways

10272671_10152850097454243_7615731083486355418_o

ตามที่สัญญากับ Tantika จะมาแนะนำวิธีเลือกกันแดดของผมนะครับ ^^

ในภาพเป็นครีมกันแดดที่ผมใช้อยู่ช่วงนี้ แต่ … จะยังไม่พูดถึงมันทั้งสี่ตัวเลย เพราะหลักการข้อแรกในการเลือกกันแดดคือ 1. อย่าคิดเรื่องยี่ห้อ

ผมจะสรุปเป็น 6 ข้อ ขอเรียกเป็น “Jarern’s Sunscreen Ways” (ตั้งเอง เรียกเอง) ความรู้ที่มีก็มาจากหลายๆ ที่ หลายๆ แห่ง นะครับ ไม่ได้อยู่ดีดีก็รู้ขึ้นมาได้เอง 😉 มาดู 5 ข้อที่เหลือดีกว่า

2. คุณภาพของกันแดด
2.1 ถ้าเป็นไปได้ผมจะเลือกค่า SPF 50+ ซึ่งสูงที่สุด (ที่เค้าอนุญาตให้เคลม) ตัวนี้บอกระดับการช่วยป้องกัน รังสี UVB ที่ทำให้เราดำ (วัดกันว่ากันดำได้กว่าไม่ทาเท่าไร ดำแบบผิวไหม้)

2.2 เลือก PA ที่สูงๆ เป็นไปได้ PA++++ ซึ่งสูงที่สุด (ที่เค้าอนุญาตให้เคลม) ตัวนี้ช่วยบอกระดับการป้องกันรังสี UVA ที่ทำให้เกิดริ้วรอยลึก เพราะไปทำลายคอลลาเจนในชั้นผิว Dermis (ชั้นที่สองรองจากผิวชั้นนอก หรือชั้นหนังแท้) (วัดกันจากการใช้รังสี UVA ยิงใส่แล้วผิวดำขึ้นแบบถาวร ว่ากันได้เท่าไร หลักการจริงๆ คือ PPD ซึ่งมีค่าคล้ายๆ SPF โดย PA+ หมายถึง PPD มากกว่า 2, PA++ คือ PPD มากกว่า 4, PA+++ คือ PPD มากกว่า 8, PA++++ คือ PPD มากกว่า 16)

2.3 เคลมว่าสามารถป้องกัน Long UVA ได้ (Long UVA = UVA1) มันคือรังสี UVA ช่วงคลื่นยาว (Long UVA 340-400 นาโนเมตร; Short UVA 320-340 nm; UVB 290-320 nm) จริงๆ แล้ว กันแดดบางตัว ที่ไม่เคลมว่ากัน Long UVA ก็อาจป้องกันได้ แต่ผมยึดเอากันแดดตัวที่กล้าเคลมไว้ก่อนนะครับ ถ้าไม่กล้าเคลม ต้องมีเหตุ … Long UVA ทำไมสำคัญ เพราะว่าในแสงแดด มีรังสี Long UVA อยู่ถึง กว่า 80% (UVB 5%, Short UVA 15% โดยประมาณ) อาจสงสัยว่า “อ้าว แล้ว SPF50+/PA++++ มันกันไม่พอเหรอ” ผมมองง่ายๆ แบบนี้ครับว่า ป้องกัน Long UVA ได้ ย่อมดีกว่าป้องกันไม่ได้ หรือกันได้น้อย ไม่ว่าจะมีค่า SPF/PA ขนาดไหนก็ตาม

2.4 พยายามเลือกกันแดดที่มีค่าการป้องกัน UVA คือค่า PPD ไม่น้อยกว่า 1/3 ของการป้องกันค่า SPF เช่น SPF30 ก็ควรมี PPD10 เป็นอย่างต่ำ ซึ่ง PPD10 เทียบเคียงได้กับ ช่วง PA+++ แต่อาจไม่ถึงก็ได้นะ เพราะ PA+++ เป็นค่า PPD ได้ตั้งแต่ 9-16 … ซึ่งกันแดดที่มาจากยุโรป ถ้าผ่านมาตรฐานนี้ จะมีสัญลักษณ์ วงกลมล้อมรอบคำว่า UVA (พบได้ในกันแดด Lancome, La roche posay, etc.) … แล้วมันสำคัญยังไง เพราะมีการทดลองว่า กันแดดจะมีความสามารถในการกันได้ดี ต้องมีค่าการกันทั้งสองอย่าง ในสัดส่วนที่สมดุลกัน พูดอีกอย่างว่า SPF สูงๆ อย่าง 50 แต่มี PA+ จะป้องกันได้ไม่ดีเท่า SPF30 กับ PA+++

2.5 มีความทน … ไม่ว่าจะด้วยสารอะไร เทคโนโลยีอะไร … กันแดดทั่วไป เมื่อโดนแดด 2-3 ชม.ก็สลายตัว จึงต้องทาซ้ำบ่อยๆ … กันแดดที่ทน จะยืดอายุการป้องกันออกไปได้ หลายค่ายมีสิ่งนี้ เช่น ค่าย Loreal มีสาร Mexoryl filters ช่วยให้เค้าเคลมว่ากันแดดทน 12 ชม. … ส่วนค่าย Nuetrogena มีสาร Helioplex ช่วยให้ทน แต่ไม่เคลมว่ากี่ชม. … ส่วนค่าย Olay ก็เคลมว่า 12 ชม. แต่ผมจำสารเค้าไม่ได้ … เลือกใช้กันแดดที่ทน เพราะเราไม่ทากันแดดซ้ำระหว่างวันอยู่แล้ว ในชีวิตประจำวัน

****

3. ความเหมาะกับสภาพผิวของเรา
3.1 ถ้าผิวระคายเคืองง่าย อาจต้องเลือกกันแดดที่ไม่มีน้ำหอม แต่กันแดดที่ไม่มีแอลกอฮอล์ไม่ค่อยมีนะครับ

3.2 ถ้าผิวมัน อาจเลือกกันแดดที่บางเบา เป็นเจล จะได้ไม่รู้สึกเหนียวเหนอะหนะ

4. ความเหมาะสมในการใช้งาน

4.1 กันแดดมีสารสองประเภทผสมกันอยู่ คือ Chemical กับ Physical … Chemical ทำงานโดยดูดซับรังสียูวีเอาไว้ แล้วปล่อยออกเป็นพลังงาน … Physical ใช้วิธีสะท้อนยูวีออกไปคล้ายกระจก … กันแดดส่วนใหญ่ ใช้สองอย่างผสมกัน แต่ก็มีบางค่ายใช้อย่างเดียว เช่น Smooth-E โฆษณาว่า ใช้ Physical อย่างเดียว (เค้ามองว่า Chemical ไม่ดี แต่ผมไม่มองอย่างนั้น) … ข้อควรระวังแค่ว่า สาร Physical ในกันแดด จะสะท้อนแสงแฟลชเวลาถ่ายรูปได้ ถ่ายรูปแล้วอาจออกมาหน้าลอย (มองปกติด้วยตาไม่ลอย) ดังนั้น ถ้าจะต้องถูกถ่ายรูป (งานแต่งงาน งานรับปริญญา) ก็อาจจะหลีกเลี่ยงกันแดดที่มี Physical เยอะ … แต่ส่วนใหญ่ ก็จะผสมๆ กันมานะครับ ไม่เคยเจอกันแดดที่เป็น Chemical อย่างเดียว แต่คิดว่ามี

4.2 ต้องผจญกับความเปียกชื้น เปียกน้ำหรือเปล่า ถ้าใช่ ต้องเลือกใช้แบบ กันน้ำ ข้อดีคือ กันน้ำ ข้อเสียคือ อาจจะรู้สึกหนักหน้ากว่าหน่อย และเวลาทำความสะอาดถ้าไม่ล้างให้ดี ด้วยเมคอัพรีมูฟเวอร์ อาจเกิดปัญหาสิวอุดตันได้

5. คุณสมบัติเสริม – กันแดดเดี๋ยวนี้ มีของแถม เช่นบำรุงผิวให้ความชุ่มชื้น, มีสารช่วยลดริ้วรอย, มีสารช่วยให้หน้าขาวหรือปรับสีผิว อันนี้ไม่สำคัญ ถูกใจอันไหน อยากได้บำรุงอะไรก็เลือกกันไป

6. วิธีใช้กันแดดและข้อควรระวัง

5.1 ไม่ว่ากันแดดอะไร ต้องทาให้มากพอ เพราะในการทดสอบเค้าใช้กันแดด ปริมาณ 2 mg ต่อพื้นที่ 1 ตารางเซนติเมตร … กันแดดทาหน้า ต้องใช้ประมาณ 2 ข้อนิ้วชี้ ถ้าเป็นแบบเหลว ใช้ประมาณเหรียญสิบบาท … กันแดดทาคอ ใช้อีกเท่านึงแยกกัน … ถ้าทาน้อยๆ ค่าการป้องกันทั้งหลาย (SPF/PA) จะดร็อปลงอย่างมาก

5.2 ทากันแดดระวังเข้าตา มันเป็นอะไรที่ทรมาณมาก ผมพบว่า ไม่ว่ากันแดดยี่ห้ออะไร เข้าใกล้ดวงตา เผลอเข้าตาก็แสบทั้งนั้น ต้องล้างตา ถ้าทนๆ เอา มันก็ไม่หาย มันจะแสบระคายเคืองไปทั้งวัน อย่าทากันแดดใกล้ตามากเกินไปนะครับ บริเวณรอบดวงตา ถ้าไม่ได้ใช้กันแดดที่ทำมาเฉพาะ (หน้าตาคล้ายๆ ลิปบาล์ม) ก็ใช้แว่นกันแดดช่วย สำคัญมากๆ

***

ผมสรุปง่ายๆ หลังจากอธิบายไปยืดยาว ผมจะเลือกกันแดดที่ SPF50+/PA++++ ป้องกัน Long UVA ได้ และมีความทนทาน และมีค่า PPD ไม่น้อยกว่า 1/3 ของ SPF ผู้ผลิตน่าเชื่อถือ ถ้ามาจากยุโรปจะชอบ เพราะยุโรปมาตรฐานเค้าเขี้ยว ผมเชื่อถือ … ถ้าเข้าข่ายนี้ ผมถือว่าดีที่สุด

มาดูกันแดดที่ผมใช้ ถ้าถามว่าผมชอบแบรนด์ไหนมากสุด ผมชอบ Chanel มันราคาแพงที่สุด หอมที่สุด แต่ตอนทาหน้าวอกที่สุด แต่สักพักก็หายไป แต่เชื่อไหมว่า ตัวซ้ายสุด คุณสมบัติดีกว่า Chanel อีกตามเกณฑ์ของผม ราคาก็ไม่แพง … จึงบอกตรงๆ ว่า ชอบส่วนชอบ ดีส่วนดี นะครับ 😉

หวังว่าจะเป็นประโยชน์นะครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *