ถึงมันจะดูแก่ … อินเทอร์เน็ตเริ่มในไทย ในปี พ.ศ.2530 (1) สำหรับผม ได้มีโอกาสเรียนรู้มันไปพร้อมกับการทำงานด้วยมัน ในปี พ.ศ.2541 เป็นหนึ่งใน 670,000 คนไทยที่ใช้อินเทอร์เน็ตในตอนนั้น (2) … ได้พบรู้จักคนบนอินเทอร์เน็ตมามาก
การที่จะเรียกใครสักคนว่า “เพื่อน” นั้นดูจากอะไร? ความรู้สึกดีที่มีให้กัน ความสนิทสนม หรือความสัมพันธ์? เราอาจมองคนคนหนึ่งเป็น “เพื่อน” ในขณะที่เขามองเราเพียงแค่ “คนรู้จัก” ก็เป็นได้ … ความจริงแล้ว ความเป็น “เพื่อน” อาจจะต้องมาจากทั้งสองฝ่าย ถึงจะเรียกได้ว่าเป็น “เพื่อน” กันอย่างแท้จริง … ไม่ต่างกับ “Friend” บนเฟสบุ้ค ที่ต้องมีการ “ขอแอ้ด” มีการ “รับแอ้ด” จึงจะถือว่า คนสองคนนั้นเป็น “Friend” กันแล้ว
คนบางคน อาจเป็นคนที่เราชื่นชอบ จากความคิด การพูด หรือแค่หน้าตา … คนที่เราสนใจ ชอบอ่านความคิดของเขา คนที่เราอยากแชร์ความคิดของเราให้เขาฟัง … อินเทอร์เน็ตเปิดโอกาสให้เราได้พบเจอคนมากมาย และมีโอกาสได้อ่านความคิดของเขา รู้จักชีวิตของเขามากขึ้น … Instagram ช่วยให้เราเข้าใกล้ “คนที่ไม่รู้จัก” ได้มากขึ้น และถ้าความสัมพันธ์พัฒนาขึ้น Facebook อาจช่วยให้เราได้เป็น “เพื่อน” กันบนอินเทอร์เน็ต … ไม่ใช่ทุกคนที่เราเห็นชีวิตเขาใน Instagram จะต้องการเป็น “เพื่อน” กับเราบน Facebook … มันคือข้อเท็จจริง
ความคิด ความเข้าใจ ที่ไม่ตรงกัน อาจทำให้ความรู้สึกดีของฝ่ายหนึ่ง เป็นความน่ารำคาญของอีกฝ่ายหนึ่งได้ … หลักการง่ายๆ อันหนึ่ง คือปฏิบัติกับคนอื่นให้เสมอกับที่เขาโต้ตอบต่อเรา ถ้าเขาให้ความใกล้ชิดสนิทสนมตอบกลับมา ก็สานต่อด้วยความใกล้ชิดสนิทสนมต่อไปได้ แต่ถ้าไม่ ก็ถอยห่างออกมา เพราะความสัมพันธ์ที่มีนั้น อาจเป็นได้แค่เพียง “คนรู้จัก”
ชีวิตคนเรานั้นสั้นนัก หลีกเลี่ยงการสร้างความทุกข์กับคนอื่น สำหรับความสุข … สร้างได้จากตัวเอง 🙂
(1) http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B9%87%E0%B8%95
(2) http://internet.nectec.or.th/webstats/internetuser.iir?Sec=internetuser