โลกแบน
มีหนังสือเล่มหนึ่ง กล่าวถึงแนวคิดว่า โลกแบน ชื่อภาษาไทยว่า ใครว่าโลกกลม (The world is flat) ที่มีใจความหลักคือ โลกเราทุกวันนี้ เหมือนไม่มีพรมแดน การแข่งขันเกิดขึ้นได้ข้ามทวีป เหมือนว่าทุกประเทศนั้นอยู่บนผืนแผ่นดินเดียวกัน ทั้งนี้ เนื่องมาจากการพัฒนาของเทคโนโลยีการสื่อสารและอินเทอร์เน็ตด้วยนั่นเอง เล่าเรื่องผ่านประวัติศาสตร์ เป็นหนังสือน่าอ่านมากๆ เล่มหนึ่ง
มือถือ
มือถือ ทำให้พฤติกรรมคนเปลี่ยน แม้วันนี้จะมีเพียงบางส่วนที่เปลี่ยน แต่ก็จะค่อยๆ เปลี่ยนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามปัจจัยผลักดัน แล้วปัจจัยที่ว่านี้คืออะไร? คือการที่คนเรามีมือถือที่ทันสมัย (สมาร์ทโฟน) หรือเปล่า เมื่อสองสามปีก่อนใช่ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เมื่อระบบปฏิบัติการแอนดรอย์ด์มีไปทุกแห่งหนในโทรศัพท์มือถือทุกระดับราคา วันนี้ไม่ใช่ตัวเครื่องโทรศัพท์ที่เป็นปัจจัยหลัก เท่ากับความสามารถในการต่ออินเทอร์เน็ตของแต่ละคน นั่นคือ ต่อเน็ตตลอดแบบ unlimit หรือ ต่อๆ ปิดๆ แบบประหยัด คนที่เป็นอย่างหลังก็จะยังคงมีพฤติกรรมแบบดั้งเดิมต่อไป (ใช้คอมฯ) มากกว่าคนที่ใช้ชีวิตแบบ ต่อเน็ต unlimit ตลอดเวลา อะไรบ้างที่เปลี่ยน?
สถานที่เล่นเน็ท จากเดิมเราเล่นเน็ทจาก โรงเรียน ที่ทำงาน ร้านเน็ท และที่บ้าน (สังเกต มันคือที่ที่เรามีคอมฯ นั่นเอง) ก็เปลี่ยนมาเป็น เล่นได้ทุกที่ อาจจะเป็นห้องเรียน โรงอาหาร บนรถเมล์ บนแท็กซี่ บนบีทีเอส (อย่าเล่นบนมอไซค์ฯ เลยนะครับ พี่ขอร้อง) เล่นในห้องน้ำ เล่นในรถขณะรถติด เล่นในร้านอาหาร (โดยเฉพาะ บนโต๊ะอาหาร ขณะรับประทาน) เล่นในร้านหนังสือ เล่นในร้านเสื้อผ้า เล่นขณะเดินห้าง เล่นที่ป้ายรถเมล์ ฯลฯ
กิจกรรมที่ทำล่ะ? เดิม คนที่ใช้คอม สมัยแรกจะเข้าอินเทอร์เน็ต เข้าเว็บดังๆ เพราะมีเรื่องมากมายให้อ่าน และได้รู้ข่าวสารความเป็นไปของโลก ก็เปลี่ยนไปสู่ยุคที่อะไรๆ ก็เข้ากูเกิ้ล เพราะมันสะดวก และหาเร็ว หาเจอ ดีกว่าไปนั่งไล่หาเอาจากเว็บดังๆ ที่เคยเข้า นอกจากการหาอะไรอ่านแล้ว เรายังต้องเข้าเว็บเช็คอีเมล์ เข้าพันทิป หรือเว็บบอร์ดที่เราคุยประจำ เป็นที่ที่เราจะได้พบกับเพื่อนคอเดียวกันบนอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้เราจะออนเอ็มฯ ไปด้วย เพื่อแชทคุยกับเพื่อนที่คุยกันประจำ (ซึ่งมีทั้งคนที่รู้จักจริงๆ และคนที่รู้จักทางเน็ต)
เมื่อเราเปลี่ยนไปออนไลน์ทางมือถือตลอด เราไม่เข้าเว็บเช็คอีเมล์บ่อยเหมือนเดิมแล้ว เพราะแอพฯ เช็คเมล์คอยเช็คให้เราตลอดเวลา เราจะเข้าไปอ่านเมื่อเห็นว่ามีอีเมลใหม่เข้ามา เราเปลี่ยนมาใช้ไลน์และเฟสบุ้คคุยกับเพื่อนแทนการออนเอ็มฯ เราเข้าเฟสบุ้คเป็นอันดับแรก เพื่อคอยดูโนติฟิเคชั่น ว่ามีใครมาไลค์ มาเม้นท์ พูดอะไรถึงเราหรือเปล่า แล้วไล่อ่านนิวส์ฟีดที่มาจากเพื่อนๆ ของเรา และคลิกไปดูวิดีโอแปลกๆ หรือข่าวใหม่ๆ จากที่มีคนแชร์มา
มือถือทำให้เราใช้สิ่งอื่น นอกเหนือจาก บราวเซอร์ ที่เราต้องใช้เป็นส่วนใหญ่บนคอมฯ มาเป็นแอพพลิเคชั่น (แอพฯ) ในการเข้าอินเทอร์เน็ต แอพฯ ดียังไงทำไมเราถึงใช้กันแทนบราวเซอร์ล่ะ? เพราะ แอพฯ ทำให้เราเข้าถึงสิ่งที่เราต้องการใช้ได้เพียงจิ้มเดียว เช่น เข้าเฟสบุ้ค ไม่ต้องล็อกอินซ้ำบ่อยๆ ก็ใช้งานได้ทันที ขนาดก็ปรับให้พอเหมาะกับจอมือถือแล้ว ไม่ต้องซูมเข้าซูมออก แอพฯ ยังแจ้งเตือนเราได้ว่ามีอะไรใหม่ๆ หรือเปล่า และยังเชื่อมกับกล้องในมือถือให้อัพโหลดรูปถ่ายได้ง่ายๆ อีกด้วย
เมื่อมือถือเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนอย่างนี้ อะไรที่ไม่สามารถใช้ได้ดีบนมือถือก็จะได้รับผลกระทบ หลักๆ คืออะไรที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีแฟลช ไม่ว่าจะเป็นเว็บที่เขียนด้วยแฟลช หรือต้องพึ่งแฟลช เฟสบุ้คแอพฯ กิจกรรมต่างๆ ที่เป็นแฟลช เกมเฟสบุ้คที่เป็นแฟลชอีกเหมือนกัน เดี๋ยวนี้ทำอะไร ก็ควรคิดถึงว่าคนที่ใช้มือถือจะใช้ได้ด้วยหรือไม่นะครับ
คอนเทนต์แพลตฟอร์ม
กลยุทธ์เดิมของคอนเทนต์แพลตฟอร์มก็คือการใช้เว็บ เราจะทำเว็บขึ้นมาก่อน แล้วใช้ช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอีเมล กูเกิ้ล หรือเฟสบุ้ค ในการกระจายข้อมูล เรียกคนมาเข้าเว็บของเรา เมื่ออิทธิพลมือถือขยายตัวมา จนเว็บได้รับผลกระทบ เราก็ยังพอรับมือได้ด้วยการทำเว็บให้รองรับกับมือถือ ใช้งานด้วยมือถือได้ง่ายๆ นั่นเอง แต่พฤติกรรมของคนเล่นเน็ตที่เปลี่ยนไปนี่สิ ที่ทำให้เราต้องมาคิดเรื่องนี้กันใหม่อีกครั้งเหมือนกัน
วันนี้ เฟสบุ้คแพลตฟอร์มมีอิทธิพลมาก เพราะมีคนใช้เยอะ คนไทยใช้ไปแล้ว 18 ล้านคน (จากสถิติของเฟสบุ้คเอง เชื่อว่าเกินจำนวนคนจริงๆ ที่ใช้ไปบ้างพอสมควร) และคนมีพฤติกรรมที่พึ่งพาเฟสบุ้คมาก เริ่มต้นกิจกรรมที่เฟสบุ้ค และอ่านเนื้อหาต่างๆ จากสิ่งที่พบเห็นในเฟสบุ้ค ที่เพื่อนแชร์มา ทำให้เกิดคอนเทนต์แพลตฟอร์มส่วนที่เรียกว่า เฟสบุ้คแฟนเพจขึ้น วันนี้คนไม่แข่งกันเปิดเว็บ แต่แข่งกันเปิดแฟนเพจ มันมีข้อดีอย่างไร?
แฟนเพจ เปิดง่ายมาก ฟรี ใครๆ ก็เปิดได้ ไม่ต้องลงทุนจดโดเมนเนม ไม่ต้องเช่าที่เว็บ ไม่ต้องมาออกแบบหน้าเว็บ ไม่ต้องคิดโครงสร้างเว็บจะมีอะไรบ้าง ไม่ต้องหาเนื้อหามาใส่เยอะๆ ก่อนเปิดเว็บ ไม่ต้องเขียนโปรแกรม แถมยังเข้าถึงคนที่เล่นเฟสบุ้คได้ง่ายที่สุด (กว่าเว็บ) คนส่งต่อได้ง่าย และถ้าแฟนเพจมีจำนวนแฟนมากๆ ก็สามารถขายโฆษณาได้ด้วย (เหมือนเว็บเลย!)
ข้อเสียก็มีนะครับ ไม่ใช่มีแต่ข้อดี ข้อเสียก็เล็กๆ ไม่มาก แค่ว่า เฟสบุ้คแฟนเพจนั้น ก็มีชีวิตอยู่บนการตัดสินใจของเฟสบุ้ค หรือเรียกว่า ยืมจมูกเฟสบุ้คหายใจก็ได้ เมื่อไรเฟสบุ้คปิดจมูกก็ตายทันที หมายความว่ายังไง? เช่น ถ้าเฟสบุ้คเห็นว่าแฟนเพจทำอะไรไม่ถูกตามสายตาและกฎของเขา ก็สามารถปิดแฟนเพจนั้นได้ทันที สิ่งที่ลงทุนทำมาก็หายไปวับ การจะทำเรื่องขอเอาคืน ก็ไม่ใช่ง่ายๆ และไม่ใช่ว่าจะได้คืนเสมอไป ถ้าทำผิดกฎเฟสบุ้คจริงๆ ซึ่งในกรณีนี้ ถ้าเราทำเว็บ ไม่มีใครมาปิดเว็บเราได้ง่ายๆ แบบนี้ (เว็บสีเทาๆ จึงยังมีอยู่มากมายไงครับ) โดเมนเนม และเว็บ ถือว่าอยู่ในกำมือของเรา ถ้ามันจะล่มก็เป็นเพราะเราเอง ต่างกับเฟสบุ้คแฟนเพจที่ชีวิตของแฟนเพจอยู่ในกำมือของเฟสบุ้ค … มีเพียงข้อเสียเล็กๆ อันนี้เท่านั้นที่เราพึงรู้หากจะไปฝากชีวิตกับมัน
อ้อ… มีข้อเสียอีกสักข้อ คือเราจะทำอะไรในแฟนเพจ ก็ต้องเป็นไปตามแนวทางที่เฟสบุ้ควางไว้ให้ จะเปลี่ยนเลย์เอาท์ แทรกแบนเนอร์ เปลี่ยนแบ็คกราวน์ อะไร ทำไม่ได้ เหมือนเราสร้างเว็บเองนะครับ เรียกว่า ของดี ของฟรี ก็ต้องแลกมาด้วยข้อจำกัดบางอย่างเป็นธรรมดาครับ
คนที่คิดจะทำเว็บคอนเทนต์ โดยมองรายได้มาจากโฆษณา ตามแนวทางเดิมๆ จึงควรพิจารณาเหมือนกันว่า จะไปยึดหัวหาดที่เฟสบุ้คแฟนเพจแทนเว็บจะดีหรือเปล่า หรือจะทำอย่างไหนก่อนหลังดี คงไม่มีคำตอบตายตัว แต่วันนี้สูตรสำเร็จ ไม่ใช่คำว่า “เว็บ” อีกต่อไปแล้วเท่านั้นเองครับ
สำหรับเรื่องแพลตฟอร์มนั้น จากเดิมที่เราอาศัยอยู่บน “เว็บแพลตฟอร์ม” ที่ใครๆ ก็บอกว่า โดน “แอพพลิเคชั่นแพลตฟอร์ม” ที่มีมือถือเป็นเรือธงนำทัพบุก เข้ามาเป็นคู่แข่งแล้ว “เว็บ” ที่รุ่งเรืองจากยุค “เครื่องคอมฯ” จะต้องตายอย่างแน่แท้ วันนี้ยังมี “เฟสบุ้คแพลตฟอร์ม” ที่ทะลุทะลวงไปได้ทั้ง คอมฯ และ มือถือ คนทำธุรกิจออนไลน์ ก็ควรต้องพิจารณาดูทั้งสามอย่าง ว่าธุรกิจของเราควรใช้แบบไหน ปรับกันอย่างไรให้เหมาะสมนะครับ